ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สงขลานครินทร์ เปิดตัว ไก่เบขลา ลดเวลาการเลี้ยงจาก 6 เดือน เหลือ 3.5 เดือน ในเทศกาล “ไก่เบขลา”




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดตัว ไก่เบขลา ส่งเสริมเกษตรกรลดเวลาการเลี้ยงจาก 6 เดือน เหลือ 3.5 เดือน ในเทศกาล “ไก่เบขลา” “จากเบตงสู่สงขลา ... กำเนิดใหม่แห่งไก่เบตง” ในงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ เป็นประธานเปิดงาน รศ. ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวรายงาน และนำเสนอผลงานวิจัยและโอกาสทางธุรกิจในการเลี้ยง ไก่เบขลา” แบบครบวงจร โดย ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จ ากัด (มหาชน)



    ไก่เบขลา พัฒนาสายพันธุ์โดย สาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา โดยการใช้ไก่ พ่อพันธุ์ไก่เบตงพันธุ์แท้ (ซึ่งเป็นไก่เนื้อพื้นเมืองของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีจุดเด่น คือ เนื้อแน่น หนังกรอบ ไขมันน้อย คอลลาเจนสูง ทำให้ไก่เบตง มีชื่อเสียงจนเป็นเอกลักษณ์) ผสมกับไก่แม่พันธ์ุทางการค้า เลี้ยงที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จึงให้ชื่อว่า ไก่เบขลา



    (เบ ได้ลดทอนจากคำว่า เบตง เอาแค่ “เบ” ตัด “ตง” ออก เพราะว่าเป็นไก่เบตงที่นำมาผสมพันธุ์ให้เป็นไก่เบตงลูกผสม ขลา ได้ลดทอนจากคำว่า สงขลา เอาแค่ “ขลา” ตัดคำว่า “สง” ออก เพราะว่าได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา: ตั้งชื่อและออกแบบโลโก้โดย คุณอนันต์ มะเกะ) 




    การเลี้ยงไก่เบขลาช่วยลดระยะเวลาในการเลี้ยงลงมาเหลือเพียง 3.5 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงไก่เบตงที่ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงถึง 6 เดือน จึงจะได้น้ำหนักตัว 2 กิโลกรัม จึงทำให้การเลี้ยงไก่เบขลาช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และค่าแรงงานในการเลี้ยง นอกจากนี้ ไก่เบขลายังมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีอัตราตายต่ำ เพียง ร้อยละ 1-2 ภายใต้สภาพการเลี้ยงแบบเปิด