มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) จัดเสวนาออนไลน์ “ท่องเที่ยวภูเก็ตหลัง COVID-19: จะตั้งหลักกันอย่างไร” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลากหลายสาขามาร่วมแบ่งปันมุมมองความคิด พร้อมเผยแพร่ผลงานวิจัยว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต โดยในช่วงแรก ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ร่วมกับ รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเสนอเรื่อง “ท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19” รวมถึงวิเคราะห์แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยและภูเก็ต และมี ผศ. ดร กุลดา เพ็ชรวรุณ หัวหน้าสาขาการจัดการการท่องเที่ยว คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด กล่าวว่า ภูเก็ตมีรายได้โดยเฉลี่ยก่อนโควิด-19 ถึงกว่าสี่แสนล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถจัดสรรอะไรได้เอง ต้องให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ ภูเก็ตเองก็อยู่กับปัญหาเฉพาะหน้ามากเกินไป ลืมปัญหาโลกรวน โลกร้อน แม้กระทั่งการขาดแคลนน้ำจืดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงทำให้ไม่สามารถวางแผนรับมือได้ทันท่วงที
หากเราสังเกตุจะเห็นว่านักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปพอสมควร กลายเป็นมนุษย์แพลตฟอร์มมากขึ้น เช่น หาอาหาร หาที่พัก หาสถานที่ท่องเที่ยวผ่านระบบแพลตฟอร์มมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวจะไปอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้นด้วย ผู้อำนวยการ PPSI ให้ข้อสังเกตุเพิ่มเติม
รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ กล่าวเสริมว่า เรายังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกหลายกลุ่ม เช่น เราจะจัดการกับความคลุมเครืออย่างไร อาจจะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง กล่าวคือ คนที่มานั่งทำงานอยู่ที่ภูเก็ตหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือแม้แต่หลายเดือน แบบนี้จะเรียกว่านักท่องเที่ยวหรือเปล่า รวมถึงเราจะมองแค่เทรนอย่างเดียวไม่ได้ จะกลายเป็นว่าเรามองเห็นเฉพาะยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่วนใต้ภูเขามีอะไรที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้เรามองไปในระยะยาวได้

