ม.อ. เดินหน้า “สุวรรณภูมิศึกษา” เรียนรู้ความรุ่งเรืองในอดีตที่อาจหวนกลับมาอีกครั้ง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “สุวรรณภูมิกับความท้าท้าย” ในระบบออนไลน์ โดยวิทยากรผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว ศาสตราจารย์ ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา เป็นผู้นำเสวนา และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานและร่วมการเสวนา

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยได้จัดตั้ง “วิทยสถานธัชชา” ซึ่งแปลว่า “ธงชัย” และมีสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาเป็นหนึ่งในห้าสถาบันนำร่อง เนื่องจาก “ดินแดนสุวรรณภูมิ” มีการถูกกล่าวถึงในบันทึกของนานาชาติมาหลายพันปี เป็นอารยธรรมที่อยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์มาแต่ดึกดำบรรพ์และเป็นจุดที่โลกโบราณมาพบกัน โดยในปี 2558 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISDA ได้ริเริ่มทำการศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิศึกษา และขอให้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เชิญนักวิชาการไทยและทั่วโลกมาให้ข้อมูลเพื่อรวบรวมผลงานชุดความรู้ใหม่เรื่อง “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก”
และเมื่อวิทยสถานธัชชา มีความพร้อมที่จะทำการขับเคลื่อน สถาบันสุวรรณภูมิศึกษาจึงได้จัดให้มีการเสวนาทางวิชาการ “สุวรรณภูมิกับความท้าทายใหม่” ขึ้น เพื่อเป็นการรวมรวมแนวคิดเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนนำวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาสู่การพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนและโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และเปิดประเด็นชี้ชวนให้เกิดความสนใจในการร่วมกันศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคกันอย่างจริงจัง