ม.สงขลานครินทร์ ใช้เทคโนโลยี GCxGC-TOF MS แบบ 4 มิติ ตรวจสอบสารประกอบอินทรีย์ระเหย เพิ่มประสิทธิภาพการแยกสารสำคัญ
สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช้เทคโนโลยีเครื่อง GCxGC-TOF MS แบบ 4 มิติ ในการตรวจสอบสารประกอบอินทรีย์ระเหย เพิ่มประสิทธิภาพในการแยกสารสำคัญต่างๆ ชี้เป็น 1 ใน 2 แห่งในประเทศไทย สามารถใช้กับตัวอย่างหลายประเภท ทั้งกัญชา และกัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์

นางรุสนี กุลวิจิตร หัวหน้าฝ่ายบริการเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และทดสอบ ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่อง GCxGC-TOF MS แบบ 4 มิติ สำหรับวิเคราะห์สารอินทรีย์ระเหยในตัวอย่างที่ซับซ้อน เพื่อแยก วิเคราะห์ ยืนยัน หาลักษณะ และตรวจสอบเอกลักษณ์ของสารประกอบอินทรีย์สำคัญ โดยระบบของเครื่องเป็นการใช้คอลัมน์แยก 2 คอลัมน์ ซึ่งมีเฟสคงที่แตกต่างกันต่อเชื่อมกันเป็นอนุกรมผ่านโมดูเลเตอร์ การใช้กลไกการแยกของ 2 คอลัมน์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแยกสารทางโครมาโทกราฟีได้มากขึ้น นอกจากนั้น ระบบ GCxGC ต่อเข้ากับส่วน เฮดสเปซ และเฮดสเปซโซลิดเฟสไมโครเอกซ์แทรกชัน แบบอัตโมมัติ เหมาะสำหรับนำมาประยุกต์ใช้กับตัวอย่างได้หลากหลายประเภท สามารถทดสอบได้ทั้งตัวอย่างของแข็งและของเหลว เช่น ตัวอย่างทางด้านสิ่งแวดล้อม ปิโตรเลียม ยาง อาหารสารแต่งกลิ่นในอาหาร เครื่องดื่ม กรดไขมัน สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สารสกัดจากพืช ผลิตภัณธ์ธรรมชาติ น้ำหอม น้ำมันหอมระเหย เมแทบอโลมิกส์ และตัวอย่างทางนิติวิทยาศาสตร์ พิษวิทยา และอื่นๆ