บพท. ร่วมกับ ม.อ. และสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ชูซอฟท์พาวเวอร์ผ่าน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคใต้” พร้อมหนุนงาน “Eat Pray Love @หาดใหญ่”
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันอุดมศึกษาอีก 9 แห่งในภาคใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมจัดงาน “มหกรรมทุนวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง: จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” ระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อแสดงผลการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่มาจากงานวิจัย ภายใต้ "กรอบวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่" ซึ่งหน่วย บพท.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยระหว่างปี 2563-2565 รวมทั้งสิ้น 48 โครงการทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและขยายผลการรับรู้ในวงกว้างถึงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมจาก “คุณค่าสู่มูลค่า” ทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งเปิดตัว Cultural Map Thailand ที่เชื่อมโยง 2,621 ชุดข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมไว้ที่ www.culturalmapthailand.info โดยมุ่งให้เป็นขุมพลังซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศที่ถักทอจากทุนทางวัฒนธรรมฐานราก


สำหรับมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองในครั้งนี้ เลือกพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นภูมิภาคแรกของการจัดงาน โดยกิจกรรมหลักประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการผลงานด้านการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 12 โครงการ ในพื้นที่อาคารยิบอินซอย การออกบูธแสดงสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของผู้ประกอบการวัฒนธรรมทั่วภาคใต้ เช่น ผ้าพุมเรียง ผ้ามัดย้อม ลีมาบาติก ลูกปัดมโนราห์ อาหารปากีสถาน ผลิตภัณฑ์จากโหนดนาเล ผลิตภัณฑ์ผ้าจาก D’Nibong จ.ยะลา นอกจากนี้ ยังรวบรวมศิลปะการแสดงทุนทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น เพลงบอกสิงกอร่า ดิเกร์ฮูลู ระบำว่าวควาย ระบำร็องเง็ง หนังตะลุง ปัญจักสีลัต ระบำโนรา ระบำม่อลีฮัว วิถีจีนเมืองเก่าสงขลา คำตัก มุตโตโชว์พราว โนราดาวรุ่ง ฯลฯ โดยไฮไลท์ของงานคือ การเปิดพื้นที่ให้โนราเยาวชนกว่า 200 ชีวิต มาร่ายรำศิลปะการแสดงบนท้องถนนเพื่อร่วมเฉลิมฉลองที่ “UNESCO” ยกให้ “มโนราห์” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ