คณะทรัพย์ ม.อ. หนุนผู้ประกอบการเปิดร้านข้าวมันไก่เบขลา เจ้าแรกในหาดใหญ่ พร้อมต่อยอดงานวิจัยสู่เกษตรกรรายย่อย
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สนับสนุนศิษย์เก่าและผู้ประกอบการสู่การทำธุรกิจ เปิดร้านข้าวมันไก่เบขลา เจ้าแรกในหาดใหญ่ พร้อมต่อยอดงานวิจัยสู่เกษตรกรรายย่อยทำเป็นอาชีพ รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา คุณปิยะ นิติเรืองจรัส ศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดร้านข้าวมันไก่ ชื่อว่า “บ้านเลขที่ ๘” ซึ่งข้าวมันไก่จะใช้ไก่เบขลาที่พัฒนาสายพันธุ์โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นวัตถุดิบหลักในการทำข้าวมันไก่
ดร.ธัญจิรา เทพรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ร้านข้าวมันไก่บ้านเลขที่ ๘ เป็นลูกค้าเจ้าแรกของธุรกิจไก่เบขลาของคณะทรัพยากรธรรมชาติ ที่ต้องการจะต่อยอดงานวิจัยสู่การทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ โดยธุรกิจแรกที่ได้ดำเนินการไปแล้ว นั่นคือ การสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการแบบครบวงจร ตั้งแต่การเลี้ยงไก่ และการทำไก่สดเพื่อนำไปขายแก่ลูกค้า
คณะฯ จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจนำไก่เบขลาไปต่อยอดในการทำธุรกิจ โดยคณะฯ จะผลิตไก่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น ร้านข้าวมันไก่จะมีความจำเพาะในการเลือกใช้ไก่ที่มีคุณภาพเนื้อ หนังไก่ และอายุของไก่ ซึ่งทางคณะฯ จะผลิตไก่เบขลาที่มีคุณภาพสำหรับทำไก่ต้มสับสำหรับร้านข้าวมันไก่ รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ทั้งการเลี้ยงและการรับรองคุณภาพ นอกจากนี้ ทางสมาคมศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติและชมรมศิษย์เก่าสัตวศาสตร์ จะร่วมกันสนับสนุนเรื่องของการทำตลาด และช่วยกันประชาสัมพันธ์ร้านแก่ศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน
ดร.ธัญจิรา กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการขยายธุรกิจไปสู่เกษตรกรรายย่อย ที่ต้องการเลี้ยงไก่เป็นอาชีพเสริม เล้าหนึ่งประมาณ 400-500 ตัว โดยมีสมาคมศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติและชมรมศิษย์เก่าสัตวศาสตร์ ช่วยดูแลเกษตรกรรายย่อยที่รับไก่ไปเลี้ยง สนับสนุนและหาช่องทางการทำตลาด และส่งเสริมการขยายไก่เบขลาต่อไป
“งานวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เบขลา เบื้องต้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้เห็นข้อมูลจากงานวิจัย สามารถพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะกับอุตสาหกรรม อาจจะไม่ใช่อุตสาหกรรมไก่เนื้อขนาดใหญ่ แต่เป็นอุตสาหกรรมไก่บ้านที่เกษตรกรรายย่อยสามารถที่จะเอาไปเลี้ยง สามารถทำเป็นได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม โดยแผนในอนาคตจะพัฒนาสายพันธุ์ไก่ให้เจริญเติบโตดีขึ้น อายุการเลี้ยงสั้นลง เพื่อลดต้นทุนของเกษตรกรได้ เน้นการวิจัย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” ดร.ธัญจิรา กล่าวทิ้งท้าย